วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

แผนภูมิ

1 ชนิดของแผนภูมิ แผนภูมิจำแนกเป็น 8 ชนิดดังนี้

1.1 แผนภูมิแบบต้นไม้ (tree charts) เป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นสิ่งหนึ่ง ๆ แยกออกเป็นหลายสิ่ง หรือการจำแนกจากโครงสร้างใหญ่ไปหาองค์ประกอบย่อยเหมือนลักษณะของต้นไม้ เนื้อหาที่เหมาะกับแผนภูมิแบบต้นไม้ควรเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ เช่น ประเภทของเครื่องดนตรี ประเภทของการคมนาคม อาหารหลัก 5 หมู่ เป็นต้น


1.2 แผนภูมิแบบสายธาร (stream charts) เป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งหนึ่งๆเกิดจากหลายสิ่งมารวมกัน หรือองค์ประกอบย่อยหลายอย่างรวมกันเป็นโครงสร้างใหญ่ได้ เช่นน้ำ ปูน ทราย หินรวมกันเป็นคอนกรีต เนื้อไก่ น้ำ กะทิ มะเขือ พริก รวมกันเป็นแกงเขียวหวาน เนื้อหาที่เหมาะกับแผนภูมิแบบสายธารควรเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์ จะสังเกตได้ว่าแผนภูมิแบบสายธารมีลักษณะตรงกันข้ามกับแบบต้นไม้


1.3 แผนภูมิแบบต่อเนื่อง (flow charts) ใช้แสดงเนื้อหาที่เป็นลำดับ ขั้นตอนของการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสุดท้าย เช่น ขั้นตอนการตอนกิ่งไม้ ขั้นตอนการปฐมพยาบาล การใช้แผนภูมิแบบต่อเนื่อง ประกอบการสาธิตจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้เนื้อหาได้อย่าง ชัดเจนยิ่งขึ้น


1.4 แผนภูมิแบบองค์การ (organization charts) ใช้แสดงความสัมพันธ์ของสายงานในองค์การหรือหน่วยงานหนึ่ง ๆ ซึ่งอาจจำแนกตามตำแหน่งหรือกลุ่มงานก็ได้ เช่น การบริหารงานโรงเรียน การบริหารงานโรงพยาบาล การบริหารงานเทศบาล เป็นต้น


1.5 แผนภูมิแบบเปรียบเทียบ (comparison charts) ใช้แสดงเปรียบเทียบความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ ทั้งด้านกระบวนการ รูปร่าง ลักษณะ เช่น ลักษณะยุงลายกับยุงก้นปล่อง ลมบกกับลมทะเล การขยายตัวของวัตถุที่ถูกเผากับวัตถุธรรมดาก่อนถูกเผา เป็นต้น


1.6 แผนภูมิแบบตาราง (table charts) เป็นแผนภูมิที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับเหตุการณ์ เช่น ตารางการเดินรถ ตารางเรียน ตารางการแข่งขันกีฬา ตารางแสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติ ศาสตร์ ตารางอัตราค่าบริการ เป็นต้น


1.7 แผนภูมิแบบวิวัฒนาการ (evolution charts) ใช้แสดงกระบวนการหรือลักษณะการเปลี่ยนแปลงอย่างมีการพัฒนาของสิ่ง ของหรือ เหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น วิวัฒนาการของจักรยาน วิวัฒนาการของสัตว์โลกตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน เป็นต้น


1.8 แผนภูมิแบบอธิบายภาพ (pictorial charts)ใช้แสดงหรือชี้แจงส่วน ต่าง ๆ ของภาพให้เห็นชัดเจน ซึ่งอาจวางตัวหนังสือทับซ้อนภาพ หรือวางไว้นอกภาพแล้วชี้ด้วยเส้นไปยังตำแหน่งภาพที่ต้องการก็ได้ เช่น ส่วนประกอบของเครื่องยนต์ อวัยวะภาย ในของมนุษย์ ระบบความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น